การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
เจตนารมณ์
“วัฒนธรรมไทยได้จำเริญอยู่คู่เคียงกับไทยโบราณมาอย่างสืบเนื่อง และหากสามารถรักษาไว้สืบไป ด้วยภูมิปัญญา และความเข้าใจอันถ่องแท้แล้ว ก็จะทำให้ปัจจุบัน และอนาคตของเรากอปรด้วยความหมายที่ทรงคุณค่ามิเสื่อมคลาย
คำถามมีอยู่ว่า เหตุใดวัฒนธรรมอันดีงามยิ่งใหญ่ไพศาลนี้ ถึงเสื่อมถอยลงได้เล่า?
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะคนทั้งหลายไม่ใส่ใจ พากันมองข้ามไปเสีย หรือว่าอาจยังมีเหตุอื่นที่สำคัญกว่า เคลือบแฝงอยู่อีก?
เมื่อได้ใช้ความคิดทบทวนไปมานานครั้งเข้าจึงเห็นว่า การที่วัฒนธรรมไทยต้องเสื่อมโทรมอับเฉา ลงทุกทีๆ นั้น ก็ด้วยเหตุที่มิได้มีผู้ใดนำเอายอดแห่งแก่นสาร ของวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่ในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง และถูกต้องบริบูรณ์ด้วยการใช้รูปแบบง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก โดยให้ประสานสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันสมัย
ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่มีโอกาสที่จะรับรู้ และเข้าใจวัฒนธรรมแห่งชาติของตนเองที่มีสืบต่อกันมานั้นแล้ว จะให้เขาเหล่านั้นชื่นชอบและยอมรับได้อย่างไร?
เมื่อเราตระหนักเช่นนี้ จึงเห็นว่าต้องลงมือทำเลย
ด้วยเหตุนี้ เราผู้ยึดถือวัฒนธรรมเป็นภารกิจ ย่อมต้องลงแรงส่งเสริมกิจกรรมด้านนี้อย่างสุดกำลัง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งนัก กอปรด้วยปรัชญา ความคิด วรรณคดี ศิลปะ ประวัติศาสตร์ บุคคล และชีวิตความเป็นอยู่ ฯลฯ มากมายหลายประการ ด้วยเหตุนี้ เราจำต้องมีปณิธานอันแน่วที่จะดำเนินภารกิจสืบต่อไปด้วยความเชื่อมั่น”
วัตถุประสงค์
๑
เพื่อให้คนในปัจจุบันได้เรียนรู้เรื่องราวของอดีต เพราะอดีตเปรียบเสมือนเข็มทิศและหางเสือที่มีไว้สำหรับเดินเรืออย่างมีสวัสดิภาพ
๒
เพื่อให้ศิลปะที่เป็นมรดกจากบรรพบุรุษซึ่งสั่งสมมานานและมีคุณค่าไม่เสื่อมคลาย เป็นประจักษ์พยานแห่งความเจริญด้านจิตใจของสังคมตะวันออกที่มีศาสนาเป็นเครื่องค้ำชูสันติภาพของโลก
๓
เพื่อให้มนุษย์ร่วมโลกรู้จักประเพณีและวัฒนธรรมของเรา และใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาผู้ที่กำลังหลงทาง อยู่ในสังคมที่มีวิทยาศาสตร์เจริญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้คนนับถือลัทธิวัตถุนิยมที่มุ่งแสวงหาแต่ความสุขในทางโลก
๔
เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของผู้สร้างว่า พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณคือมรดกของมนุษยชาติที่จะคงอยู่คู่ฟ้าดินตลอดไป
ชีวประวัติ
คุณเล็ก – คุณประไพ วิริยะพันธุ์
ผู้ก่อตั้ง เมืองโบราณ ปราสาทสัจธรรม
และพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
หลังจากที่คุณเล็กได้สมรสกับคุณประไพแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ คุณเล็กก็ได้ก้าวเข้าสู่สนามธุรกิจอย่างเต็มตัวโดยร่วมก่อตั้งธนาคารมณฑล และทำหน้าที่เป็น “กอมประโดร์” ดูแลด้านสินเชื่อ (ภายหลังธนาคารมณฑลรวมกิจการกับธนาคารเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารกรุงไทย) หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ก็ได้ซื้อกิจการของบริษัทธนบุรีพานิชและก่อตั้งธนบุรีประกอบรถยนต์ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจอย่างกว้างขวาง
คุณเล็ก-คุณประไพ ได้เริ่มสร้างเมืองโบราณขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๖ เมื่อผ่านมาราว ๑๐ ปี คือ พ.ศ.๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เมืองโบราณเป็นสถานที่ถวายการต้อนรับ สมเด็จพระบรมราชินาถ อลิซาเบธที่ ๒ และพระราชสวามี แห่งสหราชอาณาจักร ในคราวเสด็จเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ จึงถือเอาเหตุการณ์เมื่อครั้งนั้นเป็นวันเปิดเมืองโบราณอย่างเป็นทางการ
คุณเล็ก และ คุณประไพ วิริยะพันธุ์
เมื่อครั้งงานมงคลสมรส
คุณเล็ก และ คุณประไพ วิริยะพันธุ์
คุณเล็ก และ คุณประไพ วิริยะพันธุ์ พร้อมบุตร ธิดา
กระทั่งมีเพื่อนชาวต่างชาติชาวยุโรปคนหนึ่งมาพูดคุยและคิดอยากจะสร้างอาคารงำเมืองเป็นรูปผลแอปเปิ้ลในบ้านเมืองเขา เพราะเป็นผลไม้ที่มีความหมายอย่างหนึ่งทางวัฒนธรรม ดังนั้น ความคิดในการสร้างช้างเอราวัณจึงกลับมาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ท่านคิดว่าจะสร้างในที่ดินของท่านในเขตสำโรง สมุทรปราการ เพราะอยู่ในพื้นที่ใกล้กับโรงประกอบรถยนต์ของบริษัทธนบุรีฯ ที่สามารถดูแลความปลอดภัยได้ไม่ยาก
อีกทั้งอยู่ในเขตเมืองที่เหมาะสมกับการเป็นแหล่งที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ด้วย ซึ่งการสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณนี้ จุดมุ่งหมายคือ ต้องการให้ภายในท้องช้างเป็นห้องพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุที่คุณเล็กสะสมเพื่อให้คนไทยได้เข้าชมศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านโบราณวัตถุที่ล้ำค่า จากนั้นคุณเล็กได้เริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา
คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ รวมอายุได้ ๘๖ ปี ด้วยผลงานที่คุณเล็กได้สร้างไว้ให้กับสังคมมากมาย จึงได้รับพระราชทานโกศโถและฉัตรเบญจาตั้งประดับกอบศพเพื่อเป็นเกียรติยศ
แม้คุณเล็กและคุณประไพ วิริยะพันธุ์ได้ ล่วงลับจากไปแล้ว แต่บุตร-ธิดาและหลานๆ ของท่าน ก็ได้ส่งต่อเจตนารมณ์ในการทำงานของท่านทั้งสองเสมอมา สิ่งที่ท่านทั้งสองได้ริเริ่มก่อร่างสร้างไว้ ทั้งเมืองโบราณ ปราสาทไม้สัจธรรมและพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ยังคงได้รับการดูแลรักษาและพัฒนาสืบทอดการทำงานมาอย่างไม่ขาดช่วงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณนั้น เมื่อคราวคุณเล็กได้ถึงแก่กรรม การดำเนินการสร้างยังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ คุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ (อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรปราการ) บุตรชายคนโตของคุณเล็กจึงเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการรับภารกิจต่อและดำเนินการสร้างจนแล้วเสร็จให้สมดังเจตนารมณ์ของคุณเล็ก แม้ภายหลังเมื่อคุณพากเพียร วิริยะพันธุ์ ได้เสียชีวิตลง พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณก็ยังคงได้รับการดูแล บำรุงรักษา ปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การบริหารและดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเมืองโบราณ
ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้าง
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณโดยสังเขป
การสร้างพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ เริ่มต้นจากแบบร่างบนกระดาษ คุณเล็กใช้ทีมช่างเมืองโบราณปั้นรูปจำลองด้วยดินเหนียวขึ้นมาดูก่อน จากนั้นติดต่อสถาปนิกร่วมพัฒนารูปทรงโครงสร้างช้างอีกหลายครั้ง ด้วยวัสดุหลากหลาย ทั้งไฟเบอร์ โฟม และขี้ผึ้ง เพราะโครงสร้างนี้ไม่มีรูปทรงชัดเจนเหมือนการสร้างอาคารทั่วไป หลังจากนั้นจึงเริ่มเขียนแบบแปลน
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๑๐ ปี ตัวช้างมีความสูง ๒๙ เมตร โครงสร้างของลำตัวและหัวช้างใช้เหล็กรูปพรรณเป็นรูปตัว H และ I เชื่อมต่อกันคล้ายกับการสานตะกร้อ โครงสร้างตัวช้างเป็นโครงถักเหล็กทรงพาราโบลา ๑๐ วง ส่วนพิเศษที่สร้างยากมากที่สุดคือ เศียรช้าง เพราะเป็นส่วนที่ยื่นออกไปโดยไม่มีเสารับ สถาปนิกและวิศวกรผู้ออกแบบใช้คานโครงเหล็กที่เรียกว่า “Truss” คอยค้ำดึงน้ำหนักของหัวช้างให้ถ่ายน้ำหนักลงมาที่ขาช้างทั้งสี่ขา ส่วนขาช้างทั้งสี่นั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อรับน้ำหนักตัวช้างและมีอาคารหลักรองรับขาช้างอีกที
ตัวอาคารรองรับมีความสูง ๑๔.๖๐ เมตร โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก น้ำหนักตัวช้างจะกระจายลงบนคานวงแหวนรอบนอกและรอบในบนหลังคาอาคาร ถ่ายน้ำหนักลงเสาแปดเสารอบนอกและเสาสี่เสารอบในของตัวอาคาร โดยตัวช้างรวมทั้งอาคารมีความสูง ๔๓.๖๐ เมตร (เทียบเท่าตึก ๑๔ ชั้น) ความกว้างของช้าง ๑๒ เมตร ความยาวลำตัวช้าง ๓๙ เมตร น้ำหนักของลำตัวช้าง ๑๕๐ ตัน และน้ำหนักของเศียรช้าง ๑๐๐ ตัน
การประกอบเศียรช้างนั้น เริ่มประกอบจากเศียรกลางก่อน เมื่อตั้งโครงเหล็กเป็นรูปเศียรช้างแล้ว คนงานจะเคาะแผ่นทองแดงขึ้นรูปเศียรทีละชิ้นจนเป็นรูปเป็นร่าง ดูความถูกต้อง ทำหมายเลขบนแผ่นทองแดงแต่ละชิ้นแล้วถอดแผ่นทองแดงทั้งหมดออกมา หลังจากนั้นจะใช้รถเครนยกโครงเหล็กขึ้นไปประกอบข้างบนโดยมีนั่งร้านเหล็กนับหมื่นชิ้นรับน้ำหนักอยู่ด้านบน และให้ช่างขึ้นไปเคาะแผ่นทองแดงบุผิวช้างทั้งตัว
โดยใช้แผ่นทองแดงหนาประมาณ ๑.๒ มิลลิเมตร มีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ ๔ x ๘ ฟุต จนถึงแผ่นเล็กสุดขนาดเท่าฝ่ามือ เคาะตกแต่งลวดลายเรียงต่อกันหลายแสนชิ้นด้วยความประณีต ซึ่งช้างเอราวัณตัวนี้เป็นประติมากรรมลอยตัวที่ใช้เทคนิคการเคาะโลหะขึ้นรูปด้วยมือแห่งแรกของโลก โดยได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมอย่างเป็นทางการได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นต้นมา