การจัดแบ่งพื้นที่และ
การตกแต่งภายในตัวอาคาร
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จัดแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นสามส่วน ซึ่งได้แนวคิดมาจาคัมภีร์ไตรภูมิกถา ที่แบ่งภพภูมิ เป็นสามส่วนสำคัญ คือ บาดาล โลกมนุษย์ และสวรรค์ การจัดแบ่งพื้นที่สามส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์ ชั้นล่างสุดเป็นใต้ดินหรือบาดาล เรียกชื่อชั้นนี้ว่า “ชั้นสุวรรณภูมิ” ลำดับที่สองเป็นส่วนอาคารที่รองรับตัวช้างคือ “ชั้นโลกมนุษย์” และชั้นสามคือส่วนในตัวช้างเป็นส่วนที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ขึ้นไปตามคติในไตรภูมินั้นคือสรวงสวรรค์ ส่วนนี้ เรียกชื่อชั้นว่า “ชั้นจักรวาล”

ชั้นสุวรรณภูมิ

ชั้นสุวรรณภูมิ คือ บริเวณชั้นใต้ดินของตัวอาคารช้าง จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องกระเบื้องของคุณเล็ก ในชั้นสุวรรณภูมิ ต้องการสื่อความหมายในร่องรอยทางวัฒนธรรมของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อุษาอาคเนย์ ซึ่งในอดีตคนต่างถิ่นเรียกว่า “ดินแดนสุวรรณภูมิ” อันหมายรวมถึงดินแดนสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบันนี้ด้วย โดยโบราณวัตถุที่ใช้สื่อความหมาย ได้เลือกใช้ภาชนะดินเผา หรือที่เรียกว่า “เครื่องกระเบื้อง” เป็นสื่อแทนความหมาย เพราะการทำภาชนะดินเผานับเป็นนวัตกรรมในการผลิตเครื่องใช้สอย อันปรากฏหลักฐานว่ามีใช้กันมานับหลายพันปีแล้วในดินแดนสุวรรณภูมิ

โดยภาชนะเครื่องกระเบื้องที่จัดแสดง ได้เน้นถึงรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในดินแดนสยาม เช่น เครื่องสังคโลก ที่ผลิตขึ้นจากเตาเผาที่เมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย ภาชนะเครื่องกระเบื้องแบบลพบุรีที่เป็นรูปแบบเฉพาะที่ใช้กันในแถบเมืองเก่าละโว้ลพบุรีและแถบแอ่งโคราช รวมไปถึงภาชนะเครื่องถ้วยอันเป็นเอกลักษณ์ของภาชนะในดินแดนสยาม คือ เครื่องเบญจรงค์ และเบญจรงค์ลายน้ำทอง อันเป็นเครื่องถ้วยชั้นสูงชนิดพิเศษที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ในกลุ่มชนชั้นสูงซึ่งใช้มาแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์

นอกจากนี้ ยังมีการนำโบราณวัตถุ ชิ้นสำคัญอื่นๆ อันเป็นศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาจัดแสดงรวมอยู่ด้วย เช่น เทวรูปในศิลปะแบบเขมรโบราณ เครื่องเรือนในกลุ่มชั้นสูงของชาวสยามฝีมือช่างโบราณสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกลางของพื้นที่ในชั้นนี้ ได้ตั้งแสดงสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของน้ำในดินแดนสุวรรณภูมิ นั้นคือ ประติมากรรมรูปมนุษยนาค อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ นาคะ แปลว่า ผู้ให้น้ำ อันเป็นคติร่วมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในดินแดนสุวรรณภูมิ

 

ชั้นโลกมนุษย์

ชั้นโลกมนุษย์ เป็นบริเวณตัวอาคารทรงกลมที่รองรับน้ำหนักของตัวช้าง ก่ออิฐถือปูนสีชมพูอ่อน ภายในห้องโถงของตัวอาคารได้ผสมผสานศิลปะของโลกตะวันออกและโลกตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน บนเพดานอาคารห้องโถงอันเปรียบเสมือนหลังคาโลก ตกแต่งเป็นรูปแผนที่โลกขนาดใหญ่บนงานกระจกสี (stained glass) เป็นผลงานของ Mr.Jacob Schwarkopt ศิลปินชาวเยอรมัน โดยศิลปินใช้สีเพียงสี่สีเท่านั้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก สีเหลืองคือดิน สีขาวคือลม สีแดงคือไฟ สีฟ้าคือน้ำ รอบนอกเป็นภาพวาดจักรราศี กลุ่มดาวสำคัญ ๑๒ กลุ่ม ถัดออกไปเป็นภาพชีวิตของมนุษย์ในโลก สื่อให้เห็นถึงอิทธิพลของดวงดาวที่มีต่อชีวิตของมนุษย์

ภายในตัวอาคารยังได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตร ด้วยลายปูนปั้นฝีมือช่างเมืองเพชร ซึ่งปั้นเป็นลวดลายต่างๆ รวมถึงสัตว์หิมพานต์และเหล่ากินนร กินรี วิทยาธร คนธรรพ์ งามสะดุดตาด้วยเครื่องเบญจรงค์และเบญจรงค์ลายน้ำทองหลายแสนชิ้น ที่สั่งทำเป็นพิเศษจากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และจากประเทศจีน นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ รวมถึงใช้เครื่องถ้วยทั้งชิ้นประดับประดาสลับลวดลายสอดสีอย่างงดงาม

 

 

ชั้นนี้มีบันไดทางขึ้นเพื่อจะนำไปสู่ชั้นจักรวาล โดยบันไดจะแยกออกเป็นสองทางที่หน้าซุ้มพระเกตุ ซึ่งทำเป็นรูปเก๋งจีนตกแต่งด้วยลวดลายปูปั้น ด้านบนทำเป็นรูปพระเกตุ ทรงถือพระขรรค์อยู่เหนือซุ้ม ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองโลกและมหาสมุทร ภายในซุ้มเก๋งจีนเป็นที่ประดิษฐาน พระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร(กวนอิม)ปางแสดงเมตตาธรรมในรูปบุรุษเพศ ศิลปะจีนสมัยราชวงค์สุ่ยแกะสลักจากหินเนื้อแกร่ง ปางแสดงเมตตาธรรมที่พระวรกายเป็นบุรุษเพศยืนในท่าตริภังค์ บนเพดานบางจุดยังประดับด้วยโคมไฟกระจกระย้าสวยงาม กระจกสีต่างๆ บางส่วนทำจากวัสดุรีไซเคิล เช่น กระจกสีเขียวทำจากขวดเบียร์ไฮเนเก้น สีน้ำตาลจากขวดเบียร์สิงห์ สีน้ำเงินจากขวดไวน์ และสีแก้วใสทำจากขวดน้ำปลา แต่นำมาตัดแต่งอย่างสวยงามจนมองไม่เห็นสภาพเดิม

สิ่งโดดเด่นพิเศษอีกอย่างหนึ่งภายในอาคารชั้นนี้ คือ เสาสี่ต้น ที่เป็นเสารับน้ำหนักจากขาช้าง เสาสี่ต้นนี้ตกแต่งเป็นทรงแปดเหลี่ยม หุ้มด้วยดีบุก โดยดีบุกที่นำมาหุ้มนั้นได้เคาะดุนลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม เสาสี่ต้น เป็นสัญลักษณ์แทนคุณธรรมทั้งสี่ศาสนา ที่คอยค้ำจุนโลกมนุษย์ โดยสื่อให้เห็นถึงศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคุณธรรม เรื่อง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นแก่นหลักที่เป็นสากล อันเป็นธรรมะที่ค้ำจุนโลกไม่ให้ล่มสลาย เสาแต่ละต้นเคาะดุนเป็นภาพเรื่องราวแสดงคุณธรรมของศาสนานั้นๆ คือ

ชั้นจักรวาล

ชั้นจักรวาล เป็นบริเวณภายในตัวอาคารรูปช้าง หรือส่วนลำตัวของช้างหากมองจากภายนอก ทางเชื่อมเข้าสู่ชั้นนี้ คือ บันไดสีขาวและสีชมพูที่วนอ้อมมาบรรจบกันหลังซุ้มพระเกตุ จุดเริ่มต้นที่จะขึ้นสู่ชั้นจักรวาลหรือสรวงสวรรค์ มีทางขึ้นสองทางคือ การใช้ลิฟต์ซึ่งเป็นส่วนขาหลังด้านซ้ายของตัวช้าง กับการใช้บันไดวนซึ่งเป็นส่วนขาหลังด้านขวาของตัวช้าง บริเวณบันไดวนนั้นผนังด้านข้างบันไดมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนประดับเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับทวยเทพและนางฟ้า กำลังล่องลอยบนนภากาศ บ้างก็โปรยหมู่มวลพฤกษามาลา บ้างก็ระบำรำฟ้อน บรรเลงทิพยดุริยางค์ดนตรี อันเป็นการสร้างบรรยากาศประดุจทางเชื่อมสู่วิมานสวรรค์ชั้นฟ้า เมื่อวนตามบันไดขาช้างจนถึงบริเวณท้องช้าง เข้าไปในห้องที่เปรียบเสมือนจักรวาล

บนเพดานของชั้นจักรวาลเป็นภาพวาดสีฝุ่นสุริยจักรวาลฝีมือศิลปินชาวเยอรมัน ในภาพประกอบด้วยพระอาทิตย์ ดาวเคราะห์ทั้งแปด (ไม่นับโลกที่เรายืนอยู่) ทางช้างเผือก และกลุ่มอุกาบาต อันเป็นสรรพสิ่งที่อยู่รวมกันในจักรวาลปรากฏขึ้นพร้อมกัน และมนุษย์ก็เป็นเพียงละอองผัสมธุลีอันเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

บรรยากาศภายในชั้นจักรวาลเย็นสงบดังวิหารศักดิ์สิทธิ์ การจัดแสงไฟเฉพาะจุดทำให้ผู้ชมเกิดสมาธิ ตรงกลางห้องมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ เบื้องหน้ามีพระพุทธรูปปางลีลาศิลปะสุโขทัยเป็นพระประธานซึ่งถ่ายแบบมาจากวัดเบญจมบพิตร ฉากเบื้องหลังตกแต่งเป็นผังที่ตั้งแห่งเขาพระสุเมรุมีซุ้มวิมานด้านบนสุดซึ่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลอง ด้านหน้าซุ้มทำเป็นบันไดสามทาง คือ บันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง ซึ่งรับกับพระพุทธรูปปางลีลา ประดุจดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดำเนินผ่านทางนี้ลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนยอดเขาพระสุเมรุ นอกจากนี้ภายในห้องของชั้นจักรวาล ตามผนังด้านข้างได้จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ ซึ่งจัดแสดงในลักษณะของการประดิษฐานให้เหมาะสมกับความเป็นสิ่งเคารพบูชาอันเป็นค่าควรเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำแหน่งที่เหมาะสม

 

บริเวณโดยรอบอาคาร
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ

รอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ตกแต่งเป็นอุทยานพรรณไม้ในวรรณคดีและพรรณไม้หายากจากทุกภูมิภาคของประเทศด้วยประสงค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรรมชาติวิทยา อีกนัยยะหนึ่งก็ต้องการสร้างบรรยากาศให้สวนแห่งนี้เป็นดั่งป่าหิมพานต์ที่กล่าวถึงในตำนาน ภายในอุทยานพรรณไม้ ได้ประดับตกแต่งด้วยงานประติมากรรมลอยตัว เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ในเทพนิยาย ที่กล่าวว่าได้อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ อาทิ กิเลน คชปักษา วารีกุญชร นางเงือก นกอินทรี กินรี กิน นาค คชสีห์ นกหัสดีลิงค์ สินธพกุญชร การวิก คชสีห์วารี สิงห์ หรือราชสีห์ นกทัณฑิมา มัจฉาวาฬ เหมราอัสดร หงส์ ปลาหมูป่า เหมราช เป็นต้น ซึ่งเป็นงานประติมากรรมปูนปั้นประดับเครื่องเบญจรงค์ที่งดงามยิ่ง

Share