เส้นทาง
แสวงบุญ
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณได้จัดเส้นทางแสวงบุญเที่ยวชมและสักการะเจดียสถาน รวมถึงรูปเคารพต่างๆ เพื่อเป็นกิริยาบุญบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามคติทั้งในพระพุทธศาสนาและพราหมณ์ – ฮินดูที่คนในสังคมไทยได้นำมาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจอันมุ่งหวังให้เกิดสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิต จุดสักการะในเส้นทางแสวงบุญโดยรอบของอาคารพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ ประกอบด้วย
- ๑. พระเกศจุฬามณีเจดีย์
- ๒. ศาลาพระพรหม
- ๓. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์
- ๔. ศาลาพระตรีมูรติ
- ๕. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์
- ๖. ศาลพระพิฆเนศวร
- ๗. พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนอิม) ปางประทานพร
- ๘. พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
- ๙. ช้างตระกูลพรหมพงศ์
- ๑๐. ชั้นจักรวาล
พระเกศจุฬามณีเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อแทนพระเกศจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่บรรจุพระจุฬา (จุก) กับพระเมาลี (มวยผม)ปิ่นปักผม เครื่องรัดมวยผมและพระเขี้ยวแก้วเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าโคดม ซึ่งพระอินทร์สร้างขึ้นด้วยรัตนะ 7 ประการ ตามที่กล่าวไว้คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท พระเกศจุฬามณีเจดีย์ที่พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณสร้างขึ้นได้นำศิลปะอินเดียแบบปาละผสมกับศิลปะไทยสมัยอยุธยา ชั้นล่างขององค์เจดีย์ประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปแสดงปางต่างๆ ในคติพระพุทธรูปประจำวันเกิด ที่จะอำนวยพรความเป็นสุขให้คนที่เกิดในแต่ละวัน
ศาลาพระพรหม ประดิษฐานประติมากรรมพระพรหมปางประทับนั่ง พระพรหมเป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ร่วมกับพระศิวะ และพระวิษณุ ในคติพราหมณ์ – ฮินดู เป็นเทพผู้มี สี่พักตร์ สี่กร ในพระหัตถ์ถือ คัมภีร์ สร้อยประคำ หม้อน้ำ และช้อนตักเนย พระพรหมเป็นสัญลักษณ์ของผู้สร้าง นิยมกราบไหว้เพื่อขอพรด้านความสำเร็จในชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ เป็นหนึ่งในตระกูลของช้างเทวดาที่เทพผู้เป็นใหญ่สร้างให้กำเนิดขึ้น ตามที่กล่าวไว้ในตำราคชลักษณ์ ช้างตระกูลนี้สร้างขึ้นจากการบันดาลของพระวิษณุ มีทั้งหมด ๘ องค์ มีคุณวิเศษในการบันดาลทรัพย์สมบัติและความมั่งคั่งร่ำรวย
พระตรีมูรติ เป็นการสร้างเทพผู้เป็นใหญ่ทั้งสามในคติแบบพราหมณ์ – ฮินดู คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม รวมร่างผสานลักษณะทางสรีระและเทวูปโภคของเทพแต่ละองค์รวมกันในรูปหนึ่งเดียว พระตรีมูรติองค์นี้แสดงท่าประทับนั่ง มีห้าเศียร ๖ พระกร พระกรหน้าคู่แรกแสดงมุทราประทานพร อีกสองคู่ถัดไปถือเทวูปโภคประจำพระองค์ของเทพทั้งสาม คือ หม้อน้ำ บัณเฑาะว์ ตรีและจักร พระตรีมูรติองค์นี้ถือเป็นปางประทานมหาสมบัติ จะอำนวยพรให้ในทุกๆ ด้าน ทั้งมนุษย์สมบัติ สุขภาพและความสำเร็จสมหวังทุกประการ
ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ เป็นหนึ่งในตระกูลของช้างเทวดาที่เทพผู้เป็นใหญ่สร้างให้กำเนิดขึ้น ตามที่กล่าวไว้ในตำราคชลักษณ์ ช้างตระกูลนี้สร้างขึ้นจากการบันดาลของพระอิศวรหรือพระศิวะ มีทั้งหมด ๘ องค์ มีคุณวิเศษในการบันดาลความแข็งแรงด้านสุขภาพ ความมีอำนาจวาสนาและความเจริญในตำแหน่งหน้าที่
พระพิฆเนศวร เป็นเทพตามคติแบบพราหมณ์ – ฮินดู มีลักษณะพิเศษคือ เศียรเป็นช้าง กำเนิดจากพระศิวะและพระแม่อุมาชายา พระพิฆเณศองค์นี้ทรงประทับนั่งบนบัลลังก์ท่า “ลลิตาสนะ” มี ๔ พระกร เป็นเทพแห่งอุปสรรค คือ จะขจัดอุปสรรคให้ผู้ทำความดีและสร้างอุปสรรคให้ผู้ทำชั่ว ถือเป็นเทพแห่งศิลปศาสตร์ทั้งปวง และประทานพรด้านความสำเร็จ
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ในคติของศาสนาพุทธมหายานซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเมตตาและความกรุณา มีรูปลักษณะอย่างศิลปะจีน ประทับยืนท่าประทานพร พระหัตถ์ซ้ายถือเต้าน้ำมนต์และแสดงอาการหลั่งน้ำมนต์ พระวรกายอยู่ในรูปแบบของสตรีเพศอันเป็นรูปแบบนิยมในศิลปะจีนสมัยหลังราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ปางนี้ทรงประทานพรด้านสุขภาพให้แข็งแรงปราศจากโรคภัย
ประติมากรรมนี้แสดงท่าพระอินทร์เทวดาผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์กำลังทรงเทวพาหนะคู่พระทัยคือ ช้างเอราวัณ กำลังลอยบนนภากาศ เพื่อตรวจเยี่ยมสอดส่องความสงบเรียบร้อยบนสวรรค์และในโลกมนุษย์ จะประทานพรช่วยเหลือผู้กระทำความดีแก้ไขเหตุการณ์ร้ายให้เป็นปกติสุข
ช้างตระกูลพรหมพงศ์ เป็นหนึ่งในตระกูลของช้างเทวดาที่เทพผู้เป็นใหญ่สร้างให้กำเนิดขึ้น ตามที่กล่าวไว้ในตำราคชลักษณ์ ช้างตระกูลนี้สร้างขึ้นจากการบันดาลของพระพรหม มีทั้งหมด ๑๐ องค์ มีคุณวิเศษในการบันดาลความรู้ สติปัญญาและความเฉลียวฉลาด
ชั้นจักรวาลเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณหลายปางหลายสมัย อันเป็นค่าควรเมือง มีพระพุทธรูปปางลีลาเป็นประธานของห้องและมีรอยพระพุทธบาทอยู่ตรงกลางห้อง ผนังด้านข้างทั้งสองด้านมีพระพุทธรูปโบราณศิลปะสมัยต่างๆ อันสะท้อนถึงการนับถือพระพุทธศาสนาของรัฐโบราณในอดีตของไทยประดิษฐานเรียงรายกันอยู่ จุดนี้ถือเป็นจุดสักการะที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเพื่อขอพรอันเป็นสิริมงคลอย่างสูงแก่ชีวิต
คติเกี่ยวกับ
การลอดท้องช้าง
คนไทยถือว่าช้างเป็นสัตว์มงคล มีคติความเชื่อที่กล่าวถึงช้างในสถานะพิเศษ ความเชื่อด้านมงคลที่เกี่ยวกับการลอดท้องช้างอันเกิดจากความเชื่อที่ว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่น่าเกรงขาม ใครกล้าลอดท้องช้างก็จะรอดพ้นอุปสรรคปัญหาต่างๆไปได้ เป็นความเชื่อในเชิงส่งเสริมจิตใจให้มีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์การลอดท้องช้างเชื่อว่าจะทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น
การลอยบัว
ตามคติปูรณฆฏะ
"ปูรณฆฏะ" หมายถึง หม้อน้ำแห่งความอุดม "ปูรณะ" ที่หมายถึงความบริบูรณ์ และ "ฆฏะ" ที่แปลว่าหม้อน้ำ ในคติอินเดียมีข้อความเปรียบเปรยว่า โลกผุดขึ้นมาเหนือน้ำเหมือนกับดอกบัว การลอยบัวเหนือน้ำในสระที่เปรียบเป็นหม้อขนาดใหญ่นี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญงอกงาม